วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ต้นไม้ก็มีดนตรีอยู่ในหัวใจ จริงหรือ? ตอนที่ 2

     เรามาว่ากันต่อเกี่ยวกับการวิจัยว่าเสียงมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้หรือไม่
     มีนักวิจัยในประเทศแคนาดาคือคุณ Margaret E. Collins และ John E.K. Foreman (1) ศึกษาพืชสองชนิดคือต้นถั่วและ impatien ว่าการเติบโตจะได้รับผลกระทบจากเสียงความถี่ต่างๆ หรือไม่ (แน่นอนว่าที่เขาเลือกพืชสองชนิดนี้ก็เพราะมันโตเร็ว จะได้เห็นผลการทดลองไวๆ) ซึ่งการทดลองนี้นักวิจัยก็ใช้ตู้ควบคุมสภาพบรรยากาศในการปลูกต้นไม้ โดยมีตู้ที่ต้นไม้ไม่ได้รับเสียงอะไรเป็นตู้ควบคุม ส่วนการให้เสียงแก่พืชก็มีทั้งการให้เสียง (tone) เดียว (single sine wave) และอีกกลุ่มหนึ่งก็ให้หลายเสียงแบบสุ่ม (equal energy per unit bandwidth - white or random noise) โดยมีความดังของเสียง 91  - 94 เดซิเบล และแต่ละการทดสอบก็ใช้ต้นไม้ 4 - 8 ต้นต่อชนิด ติดตามการเติบโตทุกๆ สองวัน นาน 28 วัน
     ก่อนที่จะทำการทดลองจริง ผู้วิจัยคัดเลือกช่วงความถี่ของเสียงที่จะนำไปใช้ทดลองกับพืชก่อน และในท้ายที่สุดก็เลือกความถี่ 6,000 Hz และ 14,000 Hz
     ซึ่งนักวิจัยก็พบว่าต้นไม้โตเร็วสุดเมื่อให้เสียงเดียว โดยความยาวคลื่นของเสียงนั้นก็เท่ากับค่าเฉลี่ยของขนาดใบหลัก จึงมีการเสนอว่า คลื่นที่เคลื่อนผ่านทำให้ฟิลม์ความชื้นในอากาศที่อยู่เหนือใบและอยู่นิ่งๆ กลับมีการเคลื่อนที่ (ชั้นอากาศที่อยู่รอบๆ ใบมีการเคลื่อนที่ตามไปด้วย) ทำให้พืชมีการคายน้ำอย่างเป็นอิสระมากขึ้น ขณะที่ต้นไม้ไม่ค่อยโตเมื่อได้รับเสียงแบบสุ่ม ซึ่งข้อเสนอนี้ก็เป็นเพียงคำอธิบายที่เป็นไปได้อย่างหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิดมีกระบวนการมากมายมาเกี่ยวข้อง จึงยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันและหาคำอธิบายที่ถูกต้องที่สุด (การทดลองทางวิทยาศาสตร์ก็เป็นอย่างนี้แหละ ทฤษฎีต่างๆ สามารถถูกลบล้างได้เสมอ ถ้ามีหลักฐานใหม่ๆ มาหักล้าง)
     ข้อจำกัดของงานวิจัย: ทำการทดสอบกับพืชสองชนิดเท่านั้น โดยทั้งต้นถั่วและ impatien นี้เป็นพืชที่มีใบเยอะ ถ้าใบมีกิจกรรมต่างๆ เยอะ ต้นก็จะโตเร็ว ดังนั้นจึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่า ผลการทดลองนี้จะใช้ได้กับพืชชนิดอื่นหรือไม่ ทำให้ยังต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมกับพืชอื่นๆ อีกมาก กว่าที่จะยืนยันสมมติฐานนี้ได้อย่างชัดเจน อย่างเช่นแม้กระทั่งในการทดลองนี้ ต้นถั่วที่ได้รับเสียงแบบสุ่มโตช้ากว่ากลุ่มควบคุม ขณะที่ impatien กลับโตเร็วกว่า เป็นต้น
    จะเห็นว่าการทำการวิจัยกับพืชเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เพราะการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิดเกิดขึ้นภายในต้นไม้ ถ้าเราสามารถส่องดูกิจกรรมที่เกิดขึ้นข้างในต้นได้โดยที่ไม่ทำให้ต้นไม้ตาย ก็จะทำให้ง่ายต่อการศึกษามากขึ้น

เอกสารอ้างอิง
     1. Margaret E. Collins and John E.K. Foreman. Canadian Acoustics,Vol. 29 No.2 (2001). The University of Western Ontario, London, Canada. The Effect of Sound on the Growth of Plants.