วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2559

Tea Book ที่ไม่ใช่หนังสือ



    ของชิ้นแดงๆ อย่างในภาพ ถ้าวางอยู่บนโต๊ะเฉยๆ คนที่เห็นอาจจะคิดว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับชา แต่ที่จริงแล้วนี่เป็นกล่องใส่ถุงชาซีลอนของ Basilur ประเทศศรีลังกา (นี่ไม่ได้ค่าโฆษณาใดๆ นะ)
    พอดีเมื่อวานเข้าไปซื้อของในซูเปอร์ของห้างย่านงามวงศ์วาน เลยไปดูที่ชั้นขายชา ว่าจะไปซื้อชากลิ่นพีชเสียหน่อย แต่ไปสะดุดตากับกล่องชานี้เข้า เลยอดใจไม่ได้ต้องซื้อมาลองดู และข้างในกล่องก็เป็นอย่างในภาพข้างล่าง


     กล่องนี้ราคาประมาณ 165 บาท ถ้าจำไม่ผิด เพราะทิ้งใบเสร็จไปแล้ว มีชาอยู่ 5 ถุง (น้ำหนักทั้งหมด 10 กรัม) อยู่ในซองสีทองที่บอกเล่าสรรพคุณของชาซีลอนนี้ ถ้าถามว่าชารสชาติดีมั้ย ต้องบอกว่าไม่รู้ เพราะเพิ่งกินชาซีลอนเป็นครั้งแรก (ปกติกินแต่รสอื่น) เลยเปรียบเทียบกับยี่ห้ออื่นไม่ได้ บอกได้แต่เพียงว่าก็ดีนะ แต่ชอบกล่องอ้ะ แล้วก็ซื้อเพราะกล่องด้วย ไม่ใช่เพราะชา มันทำให้ชาดูมีคุณค่าขึ้นมาเลย จริงๆ เมื่อวานก็เห็นมีชาแบบอื่นของ Basilur ด้วย ไว้วันหน้าจะซื้อมาลองอีก 
     โดยรวมแล้วชอบ สมกับที่วันก่อนดูรายการของคุณไตรภพ ที่คุณณวัฒน์เขาไปศรีลังกาแล้วก็ซื้อชามาชงในรายการ เพราะชาเขากลมกล่อม แม้จะไม่ถึงกับชอบมาก แต่ก็ดื่มได้เรื่อยๆ ตอนชงถุงแรก ก็ยังไม่รู้สึกชอบเท่าไร สงสัยเป็นเพราะกินกับโดนัท เลยไม่ค่อยรู้รสชา แต่พอมาถึงถุงที่สองนี่ เริ่มใส่ใจในรสชาติของชามากขึ้น รู้สึกเหมือนรสชาติมันยังค้างอยู่ที่ลำคอ ก็เริ่มชอบ เพราะมันไม่รู้สึกขม แต่เป็นความรู้สึกเหมือนเรายังดื่มชานั้นอยู่เรื่อยๆ บอกไม่ถูก รู้แต่ว่าเสียดายถุงแรก ชงกับน้ำนิดเดียวแล้วก็ทิ้งเลย.....งกจริงๆ....ประมาณว่า ถุงเดียวกะชงกินทั้งวัน ยิ่งมีโดนัททั้งกล่องอย่างนี้.....อืมมมมมม.. 

                                                 

วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ต้นไม้ก็มีดนตรีอยู่ในหัวใจ จริงหรือ? ตอนที่ 2

     เรามาว่ากันต่อเกี่ยวกับการวิจัยว่าเสียงมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้หรือไม่
     มีนักวิจัยในประเทศแคนาดาคือคุณ Margaret E. Collins และ John E.K. Foreman (1) ศึกษาพืชสองชนิดคือต้นถั่วและ impatien ว่าการเติบโตจะได้รับผลกระทบจากเสียงความถี่ต่างๆ หรือไม่ (แน่นอนว่าที่เขาเลือกพืชสองชนิดนี้ก็เพราะมันโตเร็ว จะได้เห็นผลการทดลองไวๆ) ซึ่งการทดลองนี้นักวิจัยก็ใช้ตู้ควบคุมสภาพบรรยากาศในการปลูกต้นไม้ โดยมีตู้ที่ต้นไม้ไม่ได้รับเสียงอะไรเป็นตู้ควบคุม ส่วนการให้เสียงแก่พืชก็มีทั้งการให้เสียง (tone) เดียว (single sine wave) และอีกกลุ่มหนึ่งก็ให้หลายเสียงแบบสุ่ม (equal energy per unit bandwidth - white or random noise) โดยมีความดังของเสียง 91  - 94 เดซิเบล และแต่ละการทดสอบก็ใช้ต้นไม้ 4 - 8 ต้นต่อชนิด ติดตามการเติบโตทุกๆ สองวัน นาน 28 วัน
     ก่อนที่จะทำการทดลองจริง ผู้วิจัยคัดเลือกช่วงความถี่ของเสียงที่จะนำไปใช้ทดลองกับพืชก่อน และในท้ายที่สุดก็เลือกความถี่ 6,000 Hz และ 14,000 Hz
     ซึ่งนักวิจัยก็พบว่าต้นไม้โตเร็วสุดเมื่อให้เสียงเดียว โดยความยาวคลื่นของเสียงนั้นก็เท่ากับค่าเฉลี่ยของขนาดใบหลัก จึงมีการเสนอว่า คลื่นที่เคลื่อนผ่านทำให้ฟิลม์ความชื้นในอากาศที่อยู่เหนือใบและอยู่นิ่งๆ กลับมีการเคลื่อนที่ (ชั้นอากาศที่อยู่รอบๆ ใบมีการเคลื่อนที่ตามไปด้วย) ทำให้พืชมีการคายน้ำอย่างเป็นอิสระมากขึ้น ขณะที่ต้นไม้ไม่ค่อยโตเมื่อได้รับเสียงแบบสุ่ม ซึ่งข้อเสนอนี้ก็เป็นเพียงคำอธิบายที่เป็นไปได้อย่างหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิดมีกระบวนการมากมายมาเกี่ยวข้อง จึงยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันและหาคำอธิบายที่ถูกต้องที่สุด (การทดลองทางวิทยาศาสตร์ก็เป็นอย่างนี้แหละ ทฤษฎีต่างๆ สามารถถูกลบล้างได้เสมอ ถ้ามีหลักฐานใหม่ๆ มาหักล้าง)
     ข้อจำกัดของงานวิจัย: ทำการทดสอบกับพืชสองชนิดเท่านั้น โดยทั้งต้นถั่วและ impatien นี้เป็นพืชที่มีใบเยอะ ถ้าใบมีกิจกรรมต่างๆ เยอะ ต้นก็จะโตเร็ว ดังนั้นจึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่า ผลการทดลองนี้จะใช้ได้กับพืชชนิดอื่นหรือไม่ ทำให้ยังต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมกับพืชอื่นๆ อีกมาก กว่าที่จะยืนยันสมมติฐานนี้ได้อย่างชัดเจน อย่างเช่นแม้กระทั่งในการทดลองนี้ ต้นถั่วที่ได้รับเสียงแบบสุ่มโตช้ากว่ากลุ่มควบคุม ขณะที่ impatien กลับโตเร็วกว่า เป็นต้น
    จะเห็นว่าการทำการวิจัยกับพืชเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เพราะการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิดเกิดขึ้นภายในต้นไม้ ถ้าเราสามารถส่องดูกิจกรรมที่เกิดขึ้นข้างในต้นได้โดยที่ไม่ทำให้ต้นไม้ตาย ก็จะทำให้ง่ายต่อการศึกษามากขึ้น

เอกสารอ้างอิง
     1. Margaret E. Collins and John E.K. Foreman. Canadian Acoustics,Vol. 29 No.2 (2001). The University of Western Ontario, London, Canada. The Effect of Sound on the Growth of Plants.

วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ต้นไม้ก็มีดนตรีอยู่ในหัวใจ จริงหรือ? ตอนที่ 1

      เนื่องจากพักหลังมานี้ กำลังสนใจเรื่องการปลูกต้นไม้ ความจริงหลายปีก่อนก็เคยปลูกไว้ที่ระเบียงห้องบ้าง ประมาณ 4-5 ต้น แต่สุดท้ายก็ทยอยตายกันไป หลังจากนั้นก็ไม่ได้ปลูกอะไรอีกเลย เพราะมีความเชื่อว่าตัวเองไม่ใช่คน 'มือเย็น' แต่หลังจากที่ช่วงหลังกลับมาสนใจเรื่องนี้อีกครั้งและหาข้อมูลมากขึ้น ก็มาได้คิดว่า จริงๆ แล้วทุกคนน่าจะปลูกต้นไม้ได้ ขอเพียงเราเอาใจใส่และรู้จริงว่าต้นไม้แต่ละชนิดต้องการสภาพความเป็นอยู่อย่างไร ชอบแดด ชอบน้ำ มากน้อยแค่ไหน ดินควรเป็นอย่างไร ตอนนี้ก็เลยกลายเป็นว่ามีต้นนู่นต้นนี่งอกออกมาเรื่อยๆ ก็เลยเป็นที่มาของความสงสัยว่า ทำยังไงเราถึงจะทำให้ต้นไม้โตเร็วๆ และดูมีสุขภาพดี ไม่เหี่ยวแห้งจะตายมิตายแหล่      
     เชื่อว่าบางคนอาจจะเคยได้ยินว่าดนตรีทำให้ต้นไม้โตไว หรือมีผลต่อการงอกของเมล็ด ทำให้อัตราการงอกดีขึ้น (ไม่ใช่เพราะต้นไม้ฟังเพลงออก แต่เสียงดนตรีมีแรงสั่นสะเทือน และ/หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากลำโพง ทำให้ภายในเซลล์ของต้นไม้เกิดกิจกรรม (activity) ต่างๆ มากขึ้นและก็อาจเป็นเพราะสาเหตุอื่นๆ อีก ไว้มีข้อมูลมากกว่านี้ก็จะทยอยมาบอกกล่าวกัน) จริงๆ แล้วเรื่องนี้มีงานวิจัยจำนวนมากที่สนับสนุนสมมติฐานนี้ ขณะเดียวกันก็มีคนค้านข้อสรุปนี้เช่นกัน โดยกล่าวว่า การที่ต้นไม้โตไวหรือมีอัตราการงอกดีขึ้น อาจจะมาจากปัจจัยอื่นๆ ไม่ใช่เพราะเสียงดนตรี ซึ่งก็แล้วแต่ใครจะให้เหตุผลกันไป
       ถ้าอย่างนั้นเราลองมารวบรวมงานวิจัยบางส่วนที่สนับสนุนความเชื่อนี้ เช่น งานวิจัยของ Katherine และคณะ (1) ที่วัดผลกระทบทางชีววิทยาของเสียงดนตรี เสียง pink noise และพลังงานบำบัด (Healing Energy เป็นวิธีบำบัดที่ได้รับการยอมรับของ Associated Bodywork and Massage Professionals: ABMP โดยเรียกว่า VH Treatment และมีขั้นตอนในการทำอยู่ประมาณ 6 ขั้นตอน) โดยเป้าหมายก็คือการวัดผลกระทบของเสียงดังกล่าวนั้นว่ามีผลต่อการงอกของเมล็ดต้นกระเจี๊ยบเขียวและซุกินีอย่างไร  (ที่เขาเลือกเมล็ดของพืชสองชนิดนี้ก็เพราะมันงอกเร็ว ทำให้วัดผลการทดลองได้เร็ว นอกจากนี้สิ่งที่ผู้วิจัยสังเกตุเห็นเพิ่มเติมก็คือ ปลายของเมล็ดซุกินีที่งอกออกมา จะชี้ไปทางทิศเหนือเสมอ ส่วนกระเจี๊ยบเขียวไม่มีทิศทางที่แน่นอน)  
     โดยส่วนตัวแล้ว บอกได้เลยว่าเมล็ดกระเจี๊ยบเขียวงอกเร็วมาก อัตราการงอกก็สูงด้วย ตอนนี้ที่บ้านก็มีอยู่สองต้น (ในรูปข้างล่าง) มาจากการเพาะเมล็ดทั้งคู่ (ต้นข้างๆ กันนั่นไม่เกี่ยว เป็นพริกหวานสีแดง) ที่เห็นใบเล็กๆ ข้างล่างเป็นเพราะตอนแรกปลูกในห้อง พอตอนหลังเอาออกมาไว้ข้างนอกให้ได้รับแดดบ้าง (พรางแสง > 60%) ใบก็ใหญ่โตมโหฬารอย่างที่เห็น (จริงๆ มันก็คงเป็นปกติของกระเจี๊ยบเขียวนั่นแหละ) อันที่จริง ในตอนแรกก็ไม่ได้ตั้งใจจะปลูกกระเจี๊ยบเขียวนี้เล้ย ตอนที่ซื้อเมล็ดพันธุ์ อยากจะซื้อเมล็ดกระเจี๊ยบแดง พอดีเห็นเขาขายกระเจี๊ยบเขียวด้วยก็เลยสั่งไปพร้อมกัน ทั้งๆ ที่ตอนสั่งไม่รู้เลยว่าต้นกระเจี๊ยบเขียวเป็นอย่างไร แต่พอสั่งไปแล้ว ปรากฎว่าเมล็ดกระเจี๊ยบแดงหมด เลยได้แต่กระเจี๊ยบเขียวนี่มา และที่แย่กว่านั้นก็คือ จ่ายเงินไปแล้ว ถึงได้ไปลองกินลูกมัน ปรากฎว่าไม่ชอบซะงั้น ต้องลองหาข้อมูลใหม่อีกทีว่าเขากินยังไงให้อร่อย อุตส่าห์มีตั้งสองต้น  แต่ก็ไม่รู้จะรอดหรือเปล่า ต้นไม้นี่เอาใจยากซะจริงๆ


       มาต่อกันดีกว่า การทดลองนี้ทำการเพาะเมล็ดในตู้ควบคุมการเจริญเติบโตที่มืดและชื้น และมีฉนวนกันความร้อนและเสียงรบกวน โดยเพาะเมล็ดที่ไม่ได้รับเสียงอะไรเลยเป็นการทดลองควบคุม และมีสมมติฐานว่า เมล็ดที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงต่างๆ ที่ต้องการวิจัย จะงอกเร็วกว่าเมล็ดที่ไม่ได้รับเสียงอะไรเลย (เพาะกลุ่มละ 25 เมล็ด และนับการงอกทุกๆ 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 72 ชั่วโมง โดยงานนี้ก็ทำการทดลองทั้งหมด 14 การทดลอง แต่ละการทดลองก็ใช้เมล็ดทีละหลายกลุ่ม รวมแล้วก็ใช้ 4,600 เมล็ด)
     การให้เสียงดนตรีและ pink noise แก่ต้นไม้:ติดลำโพงไว้ใต้ตู้ควบคุมและเปิดเสียงอย่างต่อเนื่อง 16 ชั่วโมงต่อวันด้วยการตั้งเวลาไว้ ซึ่งเสียงดนตรีที่เปิดให้ต้นไม้ฟังก็มีทั้งเสียงจากธรรมชาติ เช่น เสียงนกร้อง และเสียงเครื่องดนตรี เช่น ฟลุ๊ต ตามทำนองเพลงพื้นเมืองของคนอเมริกัน (Native American) โดยเหตุที่ผู้วิจัยเลือกดนตรีประเภทนี้ ก็เพราะความนุ่มนวลของเสียงดนตรี ซึ่งแม้แต่คนทั่วไปก็สามารถฟังได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง ส่วนการให้พลังงานบำบัดก็ทำทุกๆ 12 ชั่วโมง ครั้งละ 15 - 20 นาที
     ผลการทดลองปรากฎว่า เสียงดนตรีมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่ออัตราการงอกเมื่อเทียบกับเมล็ดในกลุ่มควบคุม ส่วน pink noise ไม่ได้ให้ผลที่ต่างจากกลุ่มควบคุม ขณะที่พลังงานบำบัดมีผลต่อการงอกของเมล็ดและขนาดของผลกระทบที่เกิดขึ้นก็ใกล้เคียงกับเสียงดนตรี
     นอกจากนี้ รายงานการทดลองนี้ก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อย เช่น มีผลการทดลองที่แสดงให้เห็นว่า ตำแหน่งการวางจานเพาะเมล็ดและตู้ควบคุมไม่มีผลต่ออัตราการงอกของเมล็ด เป็นต้น
     จากผลการทดลองนี้ ผู้วิจัยก็ยังอภิปรายเพิ่มเติมถึงผลกระทบที่แสดงถึงความซับซ้อนของการใช้เสียงประเภทต่างๆ ให้ได้ผลดีกับต้นไม้ เพราะเสียง pink noise ไม่ได้ทำให้เมล็ดงอกเร็วเท่าเสียงดนตรีและพลังงานบำบัด ทั้งๆ ที่ควบคุมระดับเสียงของลำโพงให้เท่ากันแล้ว ซึ่งความแตกต่างที่สำคัญระหว่างเสียงดนตรีกับ pink noise ก็คือ เสียงดนตรีมีการเรียบเรียงเป็นทำนองและจังหวะ ขณะที่ pink noise เป็นเสียงเดียวไปตลอด ส่วนพลังงานบำบัดที่ใช้ในงานนี้ ก็มีตัวแปรเพิ่มเข้ามาหลายอย่าง (ในการบำบัดมีการวางมือทั้งสองข้างของผู้บำบัดเหนือจานเพาะเมล็ด และใส่ความตั้งใจลงไปว่าให้เมล็ดงอกเร็วๆ .....อะฮ้า! เริ่มแปลกๆ แล้วใช่มั้ย กรุณาไปหาอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบำบัดประเภทนี้ ถ้าต้องการทราบรายละเอียด ซึ่งผู้วิจัยก็ยอมรับว่ายังต้องทำงานวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับพลังงานบำบัดว่ามีผลต่อการงอกของเมล็ดอย่างไร)
     งานวิจัยนี้เป็นหนึ่งในหลายๆ งานที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไว้วันหน้าเรามาดูกันต่อว่าคนอื่นเขาทำการวิจัยอย่างไรกันบ้างจึงได้ข้อสรุปเช่นเดียวกันว่าเสียงดนตรีมีผลต่อการเจริญเติบโตหรือการงอกของเมล็ดต้นไม้

เอกสารอ้างอิง
     1. Katherine Creath, Ph.D. (Optical Science), Ph.D. (Music) and Gary E. Schwartz, Ph.D., University of Arizona Tucsan, AZ. The Journal of Alternative and Complementary Medici.Vol. 10, Number 1, 2004, pp. 113-122. Measuring Effects of Music, Noise, and Healing Energy. Using a Seed Germination Bioassay.