วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ต้นไม้ก็มีดนตรีอยู่ในหัวใจ จริงหรือ? ตอนที่ 1

      เนื่องจากพักหลังมานี้ กำลังสนใจเรื่องการปลูกต้นไม้ ความจริงหลายปีก่อนก็เคยปลูกไว้ที่ระเบียงห้องบ้าง ประมาณ 4-5 ต้น แต่สุดท้ายก็ทยอยตายกันไป หลังจากนั้นก็ไม่ได้ปลูกอะไรอีกเลย เพราะมีความเชื่อว่าตัวเองไม่ใช่คน 'มือเย็น' แต่หลังจากที่ช่วงหลังกลับมาสนใจเรื่องนี้อีกครั้งและหาข้อมูลมากขึ้น ก็มาได้คิดว่า จริงๆ แล้วทุกคนน่าจะปลูกต้นไม้ได้ ขอเพียงเราเอาใจใส่และรู้จริงว่าต้นไม้แต่ละชนิดต้องการสภาพความเป็นอยู่อย่างไร ชอบแดด ชอบน้ำ มากน้อยแค่ไหน ดินควรเป็นอย่างไร ตอนนี้ก็เลยกลายเป็นว่ามีต้นนู่นต้นนี่งอกออกมาเรื่อยๆ ก็เลยเป็นที่มาของความสงสัยว่า ทำยังไงเราถึงจะทำให้ต้นไม้โตเร็วๆ และดูมีสุขภาพดี ไม่เหี่ยวแห้งจะตายมิตายแหล่      
     เชื่อว่าบางคนอาจจะเคยได้ยินว่าดนตรีทำให้ต้นไม้โตไว หรือมีผลต่อการงอกของเมล็ด ทำให้อัตราการงอกดีขึ้น (ไม่ใช่เพราะต้นไม้ฟังเพลงออก แต่เสียงดนตรีมีแรงสั่นสะเทือน และ/หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากลำโพง ทำให้ภายในเซลล์ของต้นไม้เกิดกิจกรรม (activity) ต่างๆ มากขึ้นและก็อาจเป็นเพราะสาเหตุอื่นๆ อีก ไว้มีข้อมูลมากกว่านี้ก็จะทยอยมาบอกกล่าวกัน) จริงๆ แล้วเรื่องนี้มีงานวิจัยจำนวนมากที่สนับสนุนสมมติฐานนี้ ขณะเดียวกันก็มีคนค้านข้อสรุปนี้เช่นกัน โดยกล่าวว่า การที่ต้นไม้โตไวหรือมีอัตราการงอกดีขึ้น อาจจะมาจากปัจจัยอื่นๆ ไม่ใช่เพราะเสียงดนตรี ซึ่งก็แล้วแต่ใครจะให้เหตุผลกันไป
       ถ้าอย่างนั้นเราลองมารวบรวมงานวิจัยบางส่วนที่สนับสนุนความเชื่อนี้ เช่น งานวิจัยของ Katherine และคณะ (1) ที่วัดผลกระทบทางชีววิทยาของเสียงดนตรี เสียง pink noise และพลังงานบำบัด (Healing Energy เป็นวิธีบำบัดที่ได้รับการยอมรับของ Associated Bodywork and Massage Professionals: ABMP โดยเรียกว่า VH Treatment และมีขั้นตอนในการทำอยู่ประมาณ 6 ขั้นตอน) โดยเป้าหมายก็คือการวัดผลกระทบของเสียงดังกล่าวนั้นว่ามีผลต่อการงอกของเมล็ดต้นกระเจี๊ยบเขียวและซุกินีอย่างไร  (ที่เขาเลือกเมล็ดของพืชสองชนิดนี้ก็เพราะมันงอกเร็ว ทำให้วัดผลการทดลองได้เร็ว นอกจากนี้สิ่งที่ผู้วิจัยสังเกตุเห็นเพิ่มเติมก็คือ ปลายของเมล็ดซุกินีที่งอกออกมา จะชี้ไปทางทิศเหนือเสมอ ส่วนกระเจี๊ยบเขียวไม่มีทิศทางที่แน่นอน)  
     โดยส่วนตัวแล้ว บอกได้เลยว่าเมล็ดกระเจี๊ยบเขียวงอกเร็วมาก อัตราการงอกก็สูงด้วย ตอนนี้ที่บ้านก็มีอยู่สองต้น (ในรูปข้างล่าง) มาจากการเพาะเมล็ดทั้งคู่ (ต้นข้างๆ กันนั่นไม่เกี่ยว เป็นพริกหวานสีแดง) ที่เห็นใบเล็กๆ ข้างล่างเป็นเพราะตอนแรกปลูกในห้อง พอตอนหลังเอาออกมาไว้ข้างนอกให้ได้รับแดดบ้าง (พรางแสง > 60%) ใบก็ใหญ่โตมโหฬารอย่างที่เห็น (จริงๆ มันก็คงเป็นปกติของกระเจี๊ยบเขียวนั่นแหละ) อันที่จริง ในตอนแรกก็ไม่ได้ตั้งใจจะปลูกกระเจี๊ยบเขียวนี้เล้ย ตอนที่ซื้อเมล็ดพันธุ์ อยากจะซื้อเมล็ดกระเจี๊ยบแดง พอดีเห็นเขาขายกระเจี๊ยบเขียวด้วยก็เลยสั่งไปพร้อมกัน ทั้งๆ ที่ตอนสั่งไม่รู้เลยว่าต้นกระเจี๊ยบเขียวเป็นอย่างไร แต่พอสั่งไปแล้ว ปรากฎว่าเมล็ดกระเจี๊ยบแดงหมด เลยได้แต่กระเจี๊ยบเขียวนี่มา และที่แย่กว่านั้นก็คือ จ่ายเงินไปแล้ว ถึงได้ไปลองกินลูกมัน ปรากฎว่าไม่ชอบซะงั้น ต้องลองหาข้อมูลใหม่อีกทีว่าเขากินยังไงให้อร่อย อุตส่าห์มีตั้งสองต้น  แต่ก็ไม่รู้จะรอดหรือเปล่า ต้นไม้นี่เอาใจยากซะจริงๆ


       มาต่อกันดีกว่า การทดลองนี้ทำการเพาะเมล็ดในตู้ควบคุมการเจริญเติบโตที่มืดและชื้น และมีฉนวนกันความร้อนและเสียงรบกวน โดยเพาะเมล็ดที่ไม่ได้รับเสียงอะไรเลยเป็นการทดลองควบคุม และมีสมมติฐานว่า เมล็ดที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงต่างๆ ที่ต้องการวิจัย จะงอกเร็วกว่าเมล็ดที่ไม่ได้รับเสียงอะไรเลย (เพาะกลุ่มละ 25 เมล็ด และนับการงอกทุกๆ 12 ชั่วโมง เป็นเวลา 72 ชั่วโมง โดยงานนี้ก็ทำการทดลองทั้งหมด 14 การทดลอง แต่ละการทดลองก็ใช้เมล็ดทีละหลายกลุ่ม รวมแล้วก็ใช้ 4,600 เมล็ด)
     การให้เสียงดนตรีและ pink noise แก่ต้นไม้:ติดลำโพงไว้ใต้ตู้ควบคุมและเปิดเสียงอย่างต่อเนื่อง 16 ชั่วโมงต่อวันด้วยการตั้งเวลาไว้ ซึ่งเสียงดนตรีที่เปิดให้ต้นไม้ฟังก็มีทั้งเสียงจากธรรมชาติ เช่น เสียงนกร้อง และเสียงเครื่องดนตรี เช่น ฟลุ๊ต ตามทำนองเพลงพื้นเมืองของคนอเมริกัน (Native American) โดยเหตุที่ผู้วิจัยเลือกดนตรีประเภทนี้ ก็เพราะความนุ่มนวลของเสียงดนตรี ซึ่งแม้แต่คนทั่วไปก็สามารถฟังได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง ส่วนการให้พลังงานบำบัดก็ทำทุกๆ 12 ชั่วโมง ครั้งละ 15 - 20 นาที
     ผลการทดลองปรากฎว่า เสียงดนตรีมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่ออัตราการงอกเมื่อเทียบกับเมล็ดในกลุ่มควบคุม ส่วน pink noise ไม่ได้ให้ผลที่ต่างจากกลุ่มควบคุม ขณะที่พลังงานบำบัดมีผลต่อการงอกของเมล็ดและขนาดของผลกระทบที่เกิดขึ้นก็ใกล้เคียงกับเสียงดนตรี
     นอกจากนี้ รายงานการทดลองนี้ก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อย เช่น มีผลการทดลองที่แสดงให้เห็นว่า ตำแหน่งการวางจานเพาะเมล็ดและตู้ควบคุมไม่มีผลต่ออัตราการงอกของเมล็ด เป็นต้น
     จากผลการทดลองนี้ ผู้วิจัยก็ยังอภิปรายเพิ่มเติมถึงผลกระทบที่แสดงถึงความซับซ้อนของการใช้เสียงประเภทต่างๆ ให้ได้ผลดีกับต้นไม้ เพราะเสียง pink noise ไม่ได้ทำให้เมล็ดงอกเร็วเท่าเสียงดนตรีและพลังงานบำบัด ทั้งๆ ที่ควบคุมระดับเสียงของลำโพงให้เท่ากันแล้ว ซึ่งความแตกต่างที่สำคัญระหว่างเสียงดนตรีกับ pink noise ก็คือ เสียงดนตรีมีการเรียบเรียงเป็นทำนองและจังหวะ ขณะที่ pink noise เป็นเสียงเดียวไปตลอด ส่วนพลังงานบำบัดที่ใช้ในงานนี้ ก็มีตัวแปรเพิ่มเข้ามาหลายอย่าง (ในการบำบัดมีการวางมือทั้งสองข้างของผู้บำบัดเหนือจานเพาะเมล็ด และใส่ความตั้งใจลงไปว่าให้เมล็ดงอกเร็วๆ .....อะฮ้า! เริ่มแปลกๆ แล้วใช่มั้ย กรุณาไปหาอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบำบัดประเภทนี้ ถ้าต้องการทราบรายละเอียด ซึ่งผู้วิจัยก็ยอมรับว่ายังต้องทำงานวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับพลังงานบำบัดว่ามีผลต่อการงอกของเมล็ดอย่างไร)
     งานวิจัยนี้เป็นหนึ่งในหลายๆ งานที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไว้วันหน้าเรามาดูกันต่อว่าคนอื่นเขาทำการวิจัยอย่างไรกันบ้างจึงได้ข้อสรุปเช่นเดียวกันว่าเสียงดนตรีมีผลต่อการเจริญเติบโตหรือการงอกของเมล็ดต้นไม้

เอกสารอ้างอิง
     1. Katherine Creath, Ph.D. (Optical Science), Ph.D. (Music) and Gary E. Schwartz, Ph.D., University of Arizona Tucsan, AZ. The Journal of Alternative and Complementary Medici.Vol. 10, Number 1, 2004, pp. 113-122. Measuring Effects of Music, Noise, and Healing Energy. Using a Seed Germination Bioassay.